คนทำงานต้องรู้! กรณี “ถูกเลิกจ้าง” ต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไร
ในสถานการณ์ที่ไม่อาจทราบได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสจะส่งผลอย่างไรต่อไป การวางแผนอนาคตถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเจ้าของธุรกิจและมนุษย์เงินเดือนทุกคน จะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่เชื้อไวรัสระบาดขั้นรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศถดถอย หลายบริษัทไม่สามารถรับมือกับสภาวะขาดทุนได้ บวกกับการไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอ ส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นต่างพากันทยอยปิดกิจการและทำให้ลูกจ้างถูกลอยแพจากการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
ในวันนี้ Jobcan จึงอยากชวนผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มลูกจ้างมนุษย์เงินเดือนมาเรียนรู้กฎหมายที่กำหนดไว้เกี่ยวกับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับผู้ประกอบการว่าหากธุรกิจไปต่อไม่ไหวต้องแจ้งลูกจ้างอย่างไร ในส่วนของลูกจ้างก็จะสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นในอนาคต
เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างคืออะไร
เงินชดเชยเลิกจ้าง คือ เงินที่ลูกจ้างจะต้องได้รับจากนายจ้าง หากเกิดการเลิกจ้างกะทันหันโดยลูกจ้างไม่สมัครใจ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดสิทธิของลูกจ้างต่อกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยมีเงื่อนไขว่า นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้าง ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลอันไม่สมควร หากเกิดการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมขึ้นโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและนายจ้างไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
เงื่อนไขที่ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง
ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้างเมื่อต้องออกจากงานโดยไม่สมัครใจ โดยมีเงื่อนไขคือลูกจ้างต้องมีอายุงานครบ 120 วันขึ้นไป และต้องไม่กระทำผิดหรือถูกเลิกจ้างจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ
- ลูกจ้างมีเจตนาทุจริตต่อนายจ้าง
- ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ลูกจ้างประมาทเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง
- ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน
- ลูกจ้างขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควร
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- เลิกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา
เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างต้องได้รับเท่าไร
ตามกฎหมายแล้ว เงินชดเชยเลิกจ้างที่ลูกจ้างจะได้รับนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และค่าชดเชยพิเศษ
ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง
หากมีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างแบบกะทันหัน ลูกจ้างสามารถเรียกร้องเงินชดเชยกับนายจ้างได้ โดยจำนวนเงินชดเชยจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ตามอายุงานของลูกจ้าง ดังนี้
1. ลูกจ้างมีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
2. ลูกจ้างมีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
3. ลูกจ้างมีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
4. ลูกจ้างมีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
5. ลูกจ้างมีอายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
ค่าชดเชยพิเศษ
นอกเหนือจากค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมายหากเกิดการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรมแล้ว หากนายจ้างไม่ได้แจ้งรายละเอียดการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ลูกจ้างยังมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยพิเศษตามที่กฎหมายแรงงานระบุไว้ ดังนี้
1. ค่าชดเชยพิเศษกรณีเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน
หากนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุผลการปรับปรุงหน่วยงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตและการจำหน่าย รวมไปถึงการเลิกจ้างเนื่องจากการนำเครื่องจักรมาใช้แทน ซึ่งเป็นเหตุของการลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งรายละเอียดวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันเลิกจ้าง
หากไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ซึ่งการเลิกจ้างกรณีนี้ หากลูกจ้างมีอายุงานครบ 6 ปีขึ้นไป ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษเพิ่มอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี ซึ่งรวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
2. ค่าชดเชยพิเศษกรณีย้ายสถานประกอบกิจการ
ในกรณีที่นายจ้างต้องย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของลูกจ้างและครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 30 วันก่อนวันย้าย
หากลูกจ้างไม่สะดวกใจจะย้ายสถานที่ทำงานตามไปด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างและได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า 50% ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับ แต่หากนายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนการย้ายสถานประกอบกิจการ นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นจำนวน 30 วัน
เงิดชดเชยกรณีเลิกจ้างจะได้รับตอนไหน
ตามกฎหมายแล้วเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างถือเป็นเงินได้ที่ผู้รับเงินต้องเสียภาษีด้วยตัวเอง โดยเงินชดเชยเลิกจ้างจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากเงินชดเชยที่ได้รับมากกว่า 300,000 บาท ส่วนที่เกินมานั้นจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยทั่วไปแล้วลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างในวันสุดท้ายของการทำงาน หากถึงวันดังกล่าวแล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ลูกจ้างสามารถเข้ายื่นร้องเรียนกับพนักงานตรวจแรงงานได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในกรุงเทพฯ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในต่างจังหวัด
อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันและคิดว่ามั่นคงจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคตหรือไม่ แต่หากเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดนั้นมันเกิดขึ้นจริง ข้อมูลที่ได้อ่านไปในวันนี้จะช่วยทำให้รู้ว่าควรรับมืออย่างไร สิทธิพื้นฐานที่จะได้รับตามที่กฎหมายกำหนดนั้นมีอะไรบ้าง รวมไปถึงข้อมูลการเสียภาษีของรายได้จำนวนดังกล่าว เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตนเองและเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
Jobcan Payroll
ออกสลิป คำนวณภาษี คิดเงินเดือนออนไลน์
สนใจระบบ Jobcan ติดต่อ 02-107-1867
LINE@ : @jobcan_th
Facebook : Jobcan Thailand
ลงทะเบียนสอบถามข้อมูล : https://bit.ly/3P0dVmg
Recent Comments