ไม่อยากเข้าออฟฟิศ! ทำความรู้จักกับ Return-to-Office Resistance
หลายคนต่อต้านการเข้าออฟฟิศทุกวัน เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป
หลังจากช่วงเวลาแห่งการ Work From Home ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และในขณะเดียวกัน นั่นก็หมายถึงการที่ชาวออฟฟิศต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานอีกครั้ง เพราะบริษัทหลายแห่งเริ่มประกาศเรียกตัวพนักงานกลับเข้าออฟฟิศดังปกติ
วันนี้ Jobcan จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Return-to-Office Resistance หรือ การต่อต้านนโยบายการเข้าออฟฟิศหลังสถานการณ์โควิด สาเหตุจะเกิดจากอะไรและสถานการณ์เป็นแบบไหน ไปดูกันเลย!
Return-to-Office Resistance เกิดจากอะไร?
จากการที่สถานการณ์โควิดมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงที่ลดความเข้มงวดลง หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศทุกวันดังเช่นสถานการณ์ปกติ ส่งผลให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องปรับตัวกับการทำงานอีกครั้ง เนื่องจากคุ้นชินกับการทำงานแบบ New Normal ไม่ว่าจะเป็น Work From Home, Hybrid Working หรือ Remote Working ไปเสียแล้ว การได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับใครหลาย ๆ คนที่เบื่อการอยู่บ้านเต็มทน แต่ยังมีคนจำนวนมากที่รู้สึกไม่พึงพอใจ เพราะรู้สึกว่าการเข้าออฟฟิศทุกวันนั้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นอีกต่อไป
สถานการณ์การต่อต้านในต่างประเทศ
BBC ได้สำรวจความคิดเห็นที่มีต่อการเข้าออฟฟิศและการ Work From Home ของพนักงานออฟฟิศจำนวน 1,684 คน ผลสำรวจปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมกว่า 70% คาดการณ์ว่า จำนวนพนักงานที่กลับเข้าออฟฟิศจะไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด โดยพนักงานส่วนใหญ่ต้องการ Work From Home มากกว่ากลับเข้าออฟฟิศ อีกทั้งยังระบุว่า การทำงานที่บ้านให้อิสระและความยืดหยุ่นในชีวิตมากกว่า หากไม่ใช่งานที่จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งทำงานในออฟฟิศ การเข้าออฟฟิศนั้นควรเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
กว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ประสิทธิภาพของการทำงานแบบเข้าออฟฟิศกับการ Work From Home นั้นไม่แตกต่างกัน โดยหลายคนมองว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเวลาให้กับตัวเองมากกว่าเดิม ดังนั้น เมื่อบริษัทประกาศนโยบายให้กลับเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ดังเดิม พนักงานจำนวนมากจึงไม่พึงพอใจและต่อต้านสถานการณ์ดังกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้คือ 58% ของผู้เข้าร่วมมีความคิดเห็นว่า หากบริษัทบังคับให้กลับเข้าออฟฟิศ และไม่อนุญาตให้ทำงานแบบ Remote Working พวกเขาจะลาออกและหาบริษัทอื่นที่อนุญาตการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาแทน
ถ้าจะไม่เข้าออฟฟิศ ก็ต้องลาออก
ล่าสุด ‘อีลอน มัสก์’ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Tesla’ ประกาศให้พนักงานทุกคนรวมถึงผู้บริหารระดับสูงกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสำหรับใครที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้น มัสก์กล่าวว่า พวกเขาควรลาออก
หากพิจารณาดูแล้ว จำนวน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั่นหมายความว่า ต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นชั่วโมงทำงานของพนักงานออฟฟิศทั่วไป ไม่ได้ปรับลดเวลาทำงานให้ตอบสนองความต้องการของพนักงานเสียด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งบริษัทที่กำลังเผชิญกับแรงต่อต้านนโยบายการกลับเข้าออฟฟิศไม่ใช่บริษัทไหนไกล แต่เป็นบริษัทไอทีชื่อดังอย่าง ‘Apple’ ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะปรับนโยบายให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์ แต่พนักงานจำนวนมากก็ยังรู้สึกไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทั้งยังร่วมกันลงนามในจดหมายส่งถึงผู้บริหาร เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเลือกนโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่บังคับ และให้พนักงานสามารถเลือกได้ระหว่างทำงานที่บ้านหรือเข้าออฟฟิศ
องค์กรควรรับมือกับกระแสต่อต้านการเข้าออฟฟิศอย่างไร
การออกนโยบายเชิงบังคับให้ทุกคนกลับเข้าออฟฟิศโดยไม่ถามความสมัครใจของพนักงานอาจส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจและการต่อต้านขึ้นได้ดังตัวอย่างข้างต้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริหารควรทำเพื่อรับมือเมื่อพนักงานต่อต้านนโยบายการกลับเข้าออฟฟิศ คือ
รับฟังปัญหาและความต้องการของพนักงาน
บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่ทุกคนจะอยากเข้าออฟฟิศ ปัญหาของพนักงานอาจแตกต่างกันออกไป ผู้มีอำนาจควรรับฟังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของปัญหาว่าเพราะเหตุใดพนักงานถึงไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ จากนั้นหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกคนโดยที่ไม่ปิดหูปิดตาและทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง
ปรับทีละนิด เปลี่ยนทีละน้อย
ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการเข้าออฟฟิศ ซึ่งควรเป็นข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้จริง เช่น ผลการวิจัย หรือ การเก็บข้อมูลจากผลสำรวจ และชี้แจงกับพนักงานให้เห็นถึงข้อดีต่อตัวพนักงานและต่อบริษัท ไม่ควรบังคับแบบเด็ดขาดในทันที ควรค่อย ๆ ปรับนโยบาย โดยอาจเริ่มจากการทำงานแบบ Hybrid Work กลับเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ และต้องมีมาตรการรองรับด้านความสะอาดและความปลอดภัยจากเชื้อไวรัส
ให้การสนับสนุนในระยะยาว
นอกจากจะให้ความสำคัญกับความต้องการของพนักงานและหาทางออกที่เหมาะสมแล้ว ควรสนับสนุนพนักงานในรูปแบบที่ยั่งยืน การรับฟังและมองเห็นปัญหาของพนักงานจะทำให้บริษัทคุณถือเป็นบริษัทที่เข้าใจและใส่ใจพนักงาน
ต่างคนต่างความคิด มีคนเห็นด้วยก็ย่อมมีคนที่เห็นต่าง ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาและการต่อต้านขึ้นเช่นนี้ สิ่งที่ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารควรทำจึงไม่ใช่การบังคับให้ทุกคนปฏิบัติตามนโยบายแบบเด็ดขาดในทันที แต่ควรรับฟังเงื่อนไขปัญหาของพนักงานในองค์กร และช่วยหาทางออกที่น่าพึงพอใจสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะต่อพนักงานหรือต่อบริษัทเองก็ตาม
ทบทวนให้ดีว่าสิ่งที่บริษัทคาดหวังจากตัวพนักงานคืออะไร?
ต้องการผลงานที่มีคุณภาพหรือแค่ต้องการเห็นพนักงานนั่งทำงานในสายตา?
เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ หรือ New Normal เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิดกำลังคลี่คลาย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือควรหาจุดกึ่งกลางระหว่างความคล่องตัวของบริษัทและความต้องการของพนักงานให้เจอ แล้วจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางที่ลงตัว เพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กรต่อไป
Jobcan Attendance
ระบบเข้าออกงานพนักงาน ตอกบัตรออนไลน์
สนใจระบบ Jobcan ติดต่อ 02-107-1867
LINE@ : @jobcan_th
Facebook : Jobcan Thailand
ลงทะเบียนสอบถามข้อมูล : https://bit.ly/3P0dVmg
Recent Comments