การจะทำให้งานให้สำเร็จมีสองวิธี คือ การทำงานแบบคนเดียวและการทำงานเป็นทีม ถึงแม้จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในองค์กรต่างๆ เราล้วนต้องทำงานแบบเป็นทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวันนี้ JOBCAN ขอนำเสนอ 7 เทคนิคที่ช่วยพัฒนาการทำงานเป็นทีมกันค่ะ

การร่วมมือกันสร้างทีมเวิร์คที่ดี

การทำงานเป็นทีม (Teamwork) คืออะไร

การทำงานเป็นทีมก็คือการร่วมมือกันของคนหลายๆ คนเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนจะต้องประสานงานกัน ทีมเวิร์คยังหมายถึงการที่สมาชิกในทีมต่างใช้ความสามารถของตัวเอง ในการออกความคิดเห็นและพัฒนาผลลัพธ์ของทีมอีกด้วย

ทีมเวิร์คที่ประสบความสำเร็จจะมีคุณสมบัติดังนี้

  1. สมาชิกในทีมควรมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
  2. มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  3. มีทักษะมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 
  4. มีการสื่อสารแบบเปิดและมอบพลังบวกให้แก่กัน
  5. มีการมอบหมายงานที่เหมาะสม
  6. ทำตามกฏของทีม รับฟังหัวหน้าทีมและรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง

ทำไมทีมเวิร์ค (Teamwork) ที่ดีจึงสำคัญ

การมีทีมเวิร์คที่ดีจะส่งผลให้ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จและเกิดผลลัพธ์ที่ดี โดยปกติแล้ว คนในทีมล้วนอยากทำหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดในงาน นอกจากนี้ การทำงานเป็นทีมควรแบ่งหน้าที่ ที่เหมาะสมให้กับแต่ละคน ทำให้เกิดการแบ่งเบาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้งานจะเสร็จได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

“เราเป็นหยดน้ำเพียงหนึ่งหยดเมื่ออยู่คนเดียว แต่จะเป็นมหาสมุทรถ้าเรารวมตัวกัน”

— Ryunosuke Satoro

การทำงานเป็นทีมยังช่วยให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์เยอะกว่า ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับพนักงานมาใหม่ ในขณะเดียวกัน พนักงานที่อยู่มานานก็สามารถแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ กับคนใหม่ๆได้อีกด้วย การแลกเปลี่ยนและการพูดคุยระหว่างทำงานจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในทีมและทำให้การทำงานมีบรรยากาศที่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก

เทคนิคการพัฒนาการทำงานเป็นทีม 7 ข้อ

1. ทำความรู้จักกับสมาชิกในทีม

การเป็นมิตรกับคนในทีมถือเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยทั่วไปหัวหน้าทีมจำเป็นที่จะต้อง สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม เป็นมิตรกับทุกๆ คน โดยเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านบทสนทนาทั่วไป หรือรับฟังหากคนในทีมเจอปัญหาบางบริษัทอาจมีการจัด Ice breaking เพื่อละลายกำแพงระหว่างสมาชิก โดยการให้ทำกิจกรรมหรือเล่นเกมร่วมกัน

ยิ่งหัวหน้าทีมเข้าใจสมาชิกดีเท่าไหร่ก็จะสามารถช่วยให้จับแนวทางของทีมได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าทีม แต่คนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งรู้จักกันดีมากเท่าไหร่ ก็จะรับรู้ถึง อุปนิสัยและวิธีการทำงานของแต่ละคน และทำให้การร่วมมือกันเป็นไปได้อย่างราบรื่น

2. ทำความเข้าใจกับเป้าหมายของทีมและกำหนดตารางงานให้ชัดเจน

ในที่นี้ เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีมที่จะแจกแจงให้สมาชิกทีมฟังว่าต้องการผลลัพธ์แบบไหน ในระยะเวลาเท่าใด การกำหนดเป็นเดดไลน์มาจะทำให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดเจน ยิ่งอธิบายให้ชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดเวลาในการอธิบายซ้ำ และทำให้สมาชิกได้ใช้เวลาไปกับการทำงานส่วนของตัวเองมากขึ้น

3. มีการสื่อสารที่ชัดเจนถูกต้อง

ทุกครั้งที่แจกแจงงานหรือมีการประชุมต่างๆ หัวหน้าควรมีทักษะการสื่อสารที่ดี จะต้องคอยสอบถามทีมอยู่บ่อยๆ ว่าทุกคนมีความเข้าใจแล้วหรือยังเพื่อป้องกันการสื่อสารผิดพลาด เช่น การถามว่า ’มีใครสงสัยอะไรไหม’ หรือ ’มีใครไม่เข้าใจตรงไหนไหม’ ในตอนจบการมอบหมายงานหรือนำเสนอเพื่อเปิดโอกาสให้กับสมาชิกทีมได้เคลียร์ข้อสงสัย

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีมผ่านการประชุม

4. สนับสนุนการแบ่งปันความคิดเห็น 

ในทีมๆ หนึ่ง สมาชิกล้วนมีนิสัยแตกต่างกัน ในการประชุมทีม บางคนอาจเป็นคนที่เปิดเผยและแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างมั่นใจ ในขณะที่บางคนอาจมีความเขินอายอยู่บ้างและไม่ค่อยพูดสิ่งที่คิดออกมา หัวหน้าทีมควรที่จะคอยถามไถ่บุคคลเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการละเลยความคิดเห็นของทุกคน

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  หากจัดการประชุมให้มีบรรยากาศสบายๆ และไม่ตึงเครียด ก็จะยิ่งส่งเสริมให้ทุกคนมีความกล้าที่แสดงออกมากขึ้นอีกด้วย

5. สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม

ทั้งหัวหน้าและสมาชิกทีมไม่ควรปิดกั้นความคิดวิธีการใหม่ๆ ในการริเริ่มหรือการแก้ไขปัญหา หากปรึกษากันภายในทีมแล้วว่ามีไอเดียใหม่ๆ ที่นำเสนอมามีความคุ้มค่าที่จะลอง ก็ควรลงมือทำ  โดยให้สมาชิกทุกคนใช้ความสามารถให้เต็มที่ และคอยตรวจดูผลลัพธ์อยู่เสมอ

อัปเดตความคืบหน้าของสมาชิกในทีม
Label vector created by roserodionova – www.freepik.com

 6. อัปเดตความคืบหน้าของสมาชิกในทีม

ในการมีทีมเวิร์คที่ดีขึ้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม เราจำเป็นที่จะต้องมานั่งแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนมีความคืบหน้าถึงไหนบ้าง อาจเป็นการประชุมเล็กๆ ในแต่ละสัปดาห์​เพื่อเป็นการประเมินผลถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น หากทำงานไม่ทันเวลา หรือติดขัดตรงไหนจะได้เกิดการช่วยเหลือกัน การสำรวจตรงนี้จะทำให้ทีมของเราสามารถพัฒนาต่อไปได้

7. แก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในทีม

หากมีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งหัวหน้าและสมาชิกทีมควรจะต้องมาพูดคุยกัน เนื่องจากความสมานฉันท์ก็เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข โดยที่ทุกคนควรพูดคุยอย่างมีเหตุผลและคิดหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยปราศจากอคติหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สรุป

ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการพัฒนาการทำงานเป็นทีม 7 ข้อที่นำเสนอไปนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหัวหน้าหรือคนเพียงแค่คนเดียว แต่จะต้องเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกทีมด้วย โดยจะต้องเริ่มจากการมีความสัมพันธ์ที่ดี การเข้าใจกันและกันของสมาชิกทีม จึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเรื่องของการทำงาน ทาง JOBCAN หวังว่าจะช่วยให้การทำงานเป็นทีมของทุกคนราบรื่นมากขึ้นและบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการหลังจากได้นำวิธีเหล่านี้ไปลองใช้นะคะ

Jobcan Attendance

ระบบเข้าออกงานพนักงาน ตอกบัตรออนไลน์
สนใจระบบ Jobcan ติดต่อ 02-107-1867
LINE@ : @jobcan_th
Facebook : Jobcan Thailand
ลงทะเบียนสอบถามข้อมูล : https://bit.ly/3P0dVmg